ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
เมื่อพูดถึงโรคไข้หวัดในแบบการแพทย์แผนไทยแล้ว สามารถที่จะแยกจำแนกออกเป็น 2 ชนิดด้วยกัน ซึ่งได้มีการระบุไว้ในคัมภีร์ตักศิลา มาตั้งแต่โบราณ ดังนี้
1. ไข้หวัดน้อย
ผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดน้อยจะมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว เป็นไข้ตัวร้อน ปวดศีรษะ ไอ จาม มีเสมหะ น้ำมูกตก โดยไข้หวัดน้อยนี้สามารถพบได้ตลอดทั้่งปี ไม่จำแนกว่าจะเป็นฤดูใด
2. ไข้หวัดใหญ่
ผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ อาการโดยร่วมจะคล้าย ๆ กับไข้หวัดน้อย แต่จะมีอาการที่รุนแรงกว่า ซึ่งจะพบว่ามักมีอาการร้อนใน ปากแห้ง คอแห้ง ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว น้ำมูกไหลตกมาก
สมมุติฐานการเกิดโรคไข้หวัด ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดน้อย หรือไข้หวัดใหญ่นั้น ทางคัมภีร์ตักศิลาได้กล่าวไว้ว่า เกิดจากการที่สภาพร่างกายเรามีการกระทบอากาศร้อน กระทบอากาศเย็น ถูกกระทบน้ำฝนมากเกินควร ซึ่งกล่าวได้คือ เมื่อร่างกายของเรามีการสัมผัสกับสภาพอากาศร้อน หรือเจอกับสภาพอากาศที่หนาวเย็น หรือเจอกับสภาพอากาศที่เป็นฝน มากจนเกินไป จะทำให้ธาตุในร่างกายมีการแปรปรวน กำเริบ ตกบกพร่อง จนเกิดความไม่สบายขึ้นมานั่นเอง
ซึ่งในปัจจุบันนั้นเราจะพบว่าคนเรามักป่วยด้วยโรคไข้หวัดนั่นบ่อยมากขึ้น บางคนป่วยเป็นเกือบทั้งปี โดยมีสาเหตุจากการที่ต้องนั่นทำงานในห้องแอร์ที่มีอากาศเย็น เมื่อออกจากห้องมาเจอกับสภาพอากาศที่ร้อน ครั้นบ่อยครั้งเข้า ก็ทำให้ธาตุในร่างกายแปรปรวนจนเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาในที่สุด
สมุนไพรกับโรคไข้หวัด ในยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ได้มีตัวยาสมุนไพรตำรับหนึ่ง ที่มีสรรพคุณในการดูแลรักษาอาการของโรคไข้หวัดไว้ ซึ่งก็คือ ยาจันทน์ลีลา
ภาพประกอบจาก www.samunpri.com
ยาจันทน์ลีลา เป็นหนึ่งในยาสามัญประจำบ้านที่ควรมีไว้ประจำตู้ยาในบ้าน ส่วนประกอบของยาสมุนไพรตำรับนี้ช่วยในการลดอาการไข้ตัวร้อน อาการร้อนใน ปากแห้งคอแห้ง ช่วยในเรื่องอาการอ่อนเพลียในเนื่องมาจากไข้ได้ดีอีกด้วย
แต่เดิมยาตำรับนี้จะเป็นยาชนิดผง เวลาจะใช้จะต้องนำมาละลายน้ำกระสายยาดื่ม แต่ในปัจจุบันนี้ ได้มีการผลิตแบบตอกเม็ด หรือทำแคปซูล ทำให้ง่ายต่อการใช้ยามากยิ่งขึ้น
ขนาดการใช้ยาตำรับนี้นั้น ในผู้ใหญ่จะใช้ครั้งละ 2-4 แคปซูล ทุก ๆ 4 ชั่วโมง ส่วนในเด็กจะใช้ครั้งละ 1-2 แคปซูล ทุก ๆ 4 ชั่วโมง เช่นกันกับในผู้ใหญ่
ในบางครั้งเมื่อเป็นไข้หวัด มักจะมีเสมหะ ไอ เจ็บคอ ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถบรรเทาได้ด้วยสมุนไพรพื้นบ้าน ที่หาได้ในครัวเรือน ซึ่งก็คือ น้ำมะนาว นั่นเอง
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
โดยการนำน้ำมะนาวละลายกับน้ำอุ่น แทรกเกลือเล็กน้อย ใช้จิบเมื่อมีอาการไอ เจ็บคอ หรือเมื่อรู้สึกมีเสมหะในคอ จะช่วยทำให้เกิดการชุ่มคอ ลดการระคายเคืองคอ ได้ดี
สำหรับในผู้ที่มีอาการคัดจมูก มีน้ำมูกร่วมด้วยนั้น ก็สามารถใช้สมุนไพรพื้นบ้านอีกชนิดหนึ่งมาช่วยบรรเทาอาการ ซึ่งก็คือ น้ำขิง นั่นเอง
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
เมื่อรู้สึกมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล สามารถที่จะใช้น้ำขิงมาจิบ ดื่ม ซึ่งจะช่วยให้อาการคัดจมูกนั้นบรรเทาลงได้ โดยเฉพาะก่อนนอนที่ผู้ป่วยไข้หวัดมักจะมีอาการคัดจมูก
เมื่อใช้สมุนไพรดูแลอาการต่าง ๆ ของโรคไข้หวัดแล้ว ต่อมาก็คือการปฏิบัติตัวเมื่อมีอาการของไข้หวัด ก็คือการหลีกเลี่ยงการกระทบอากาศที่เย็น การดื่มน้ำเย็น ทานอาหารที่ย่อยง่าย สวมใส่เสื้อผ้าที่อบอุ่น สวมใส่ผ้าปิดจมูก และนอนพักผ่อนให้เพียงพอ เพียงเท่านี้ก็สามารถดูแลตัวเองให้หายจากโรคหวัดได้
บทความโดย
พท.อมรชัย แก้วเรือน
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น